ถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis) คือ
ภาวะที่เกิดการอักเสบของถุงน้ำดีซึ่งเป็นอวัยวะช่วยย่อยอาหาร มีขนาดเล็กคล้ายลูกแพร์ อยู่บริเวณท้องด้านขวาใกล้ตับ ตามปกติแล้ว น้ำดีช่วยในการย่อยอาหาร โดยเฉพาะสารอาหารจำพวกไขมัน น้ำดีจะไหลผ่านถุงน้ำดีไปยังลำไส้เล็ก หากเกิดการอุดตันของน้ำดี จะส่งผลให้ถุงน้ำดีบวม อักเสบ และเกิดอาการปวดได้ การอุดตันของน้ำดีมักมีสาเหตุมาจากนิ่วอุดตันในท่อถุงน้ำดี รวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับท่อน้ำดีและเนื้องอกอื่น ๆ
ถุงน้ำดีอักเสบจัดเป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยโรคนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที เนื่องจากถุงน้ำดีอักเสบอาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังได้หากไม่เข้ารับการรักษาหรือปรากฏอาการอักเสบซ้ำอีกครั้ง ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ไม่เข้ารับการรักษาให้หาย อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ถุงน้ำดีแตก ซึ่งร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการของถุงน้ำดีอักเสบ
ถุงน้ำดีอักเสบเกิดจากนิ่วอุดตันในท่อถุงน้ำดี ส่งผลให้น้ำดีไหลผ่านไปยังลำไส้เล็กไม่ได้ เมื่อน้ำดีอยู่ภายในถุงน้ำดีมากเกินไป จะยิ่งเพิ่มแรงดันภายในถุงน้ำดี ก่อให้เกิดอาการบวมและอักเสบ ผู้ป่วยถุงน้ำดีอักเสบจะปรากฏอาการของโรค ดังนี้
- ปวดบริเวณท้องส่วนบนด้านขวาหรือตรงกลาง ซึ่งมักปวดไม่น้อยกว่า 30 นาที โดยผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเสียด ปวดบีบ หรือปวดตุบ ๆ บริเวณดังกล่าว
- อาการปวดท้อง ปวดร้าวไปที่หลังหรือบริเวณใต้สะบักด้านขวา
- อาการปวดแย่ลงเมื่อหายใจลึก ๆ
- เกิดอาการปวดท้องหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารในปริมาณมาก หรือรับประทานอาหารที่มีไขมันเยอะ
- รู้สึกระบมที่ท้องด้านขวา ทั้งนี้ เมื่อกดบริเวณท้องจะปวดมาก และอุจจาระออกสีเทาคล้ายดินโคลน
- ท้องอืด
- มีไข้ขึ้นสูง
- คลื่นไส้และอาเจียน
- เหงื่อออก
- เบื่ออาหาร
- ผิวและตาขาวมีสีเหลืองคล้ายดีซ่าน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เกิดอาการปวดท้องเฉียบพลันอย่างรุนแรง โดยเกิดอาการนานหลายชั่วโมงหรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ตัวเหลืองคล้ายดีซ่าน หรือไข้ขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากโรคถุงน้ำดีอักเสบควรได้รับการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
สาเหตุถุงน้ำดีอักเสบ
ถุงน้ำดีอักเสบเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการอักเสบของอวัยวะดังกล่าว ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบแบ่งได้คือ ถุงน้ำดีอักเสบที่เกิดจากนิ่ว และถุงน้ำดีอักเสบจากสาเหตุอื่น ดังนี้
การวินิจฉัยถุงน้ำดีอักเสบ
การวินิจฉัยถุงน้ำดีอักเสบ ผู้ป่วยถุงน้ำดีอักเสบจะได้รับการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค โดยแพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติการรักษา และตรวจร่างกายผู้ป่วย แพทย์จะตรวจท้องส่วนบนด้านขวาว่าบวมหรือกดเจ็บหรือไม่ นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- ตรวจเลือด แพทย์จะเจาะเลือดผู้ป่วย เพื่อดูการทำงานของตับอ่อน เช่น เอนไซม์อะไมเลส (Amylase) เอนไซม์ลิเพส (Lipase) ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) และการทำงานของตับ รวมทั้งตรวจหาการติดเชื้อหรือสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับถุงน้ำดี
- ตรวจด้วยภาพสแกน การตรวจถุงน้ำดีด้วยภาพสแแกนประกอบด้วยการตรวจหลายประเภท ดังนี้
- อัลตราซาวด์ แพทย์จะอัลตราซาวด์ท้องผู้ป่วย เพื่อดูว่าภายในถุงน้ำดีมีก้อนนิ่ว เยื่อบุหนาที่ถุงน้ำดี ปริมาณน้ำดีที่มากเกินไป หรือสัญญาณอื่น ๆ ของถุงน้ำดีอักเสบ ปรากฏหรือไม่ โดยการอัลตราซาวด์ท้องจะช่วยให้แพทย์ตรวจขนาดและรูปร่างของถุงน้ำดีผู้ป่วยได้ อีกทั้งยังเป็นวิธีในการวินิจฉัยถุงน้ำดีที่พบได้ทั่วไป
- ตรวจสแกนตับและถุงน้ำดี (Hepatobiliary Iminodiacetic Acid Scan: HIDA Scan) แพทย์จะตรวจลำไส้เล็กส่วนบน ถุงน้ำดี และท่อน้ำดี โดยการตรวจนี้จะช่วยแสดงภาพการผลิตและไหลเวียนของน้ำดีจากตับไปยังลำไส้เล็ก รวมทั้งปัญหาการอุดตันของน้ำดี ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปภายในร่างกาย ซึ่งสารทึบรังสีจะผสมกับเซลล์ที่ผลิตน้ำดี ทำให้เห็นภาพการไหลเวียนของน้ำดีในท่อน้ำดีได้
- ตรวจอื่น ๆ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยตรวจอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น เอกซเรย์ ทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (Computerized Tomography Scan: CT scan) ทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) การตรวจเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยปัญหาถุงน้ำดีได้มากขึ้น
การรักษาถุงน้ำดีอักเสบ
ผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจและวินิจฉัยว่าป่วยเป็นถุงน้ำดีอักเสบ จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยแพทย์จะคอยดูแลอาการอักเสบของถุงน้ำดีและอาการป่วยอื่น ๆ การรักษาถุงน้ำดีอักเสบประกอบด้วยการรักษาเบื้องต้นและการผ่าตัด ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
การรักษาเบื้องต้น
แพทย์จะไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ เพื่อลดการบีบตัวของหูรูดที่ถุงน้ำดี ลดการระบายสารต่าง ๆ ออกมา รวมทั้งช่วยให้ถุงน้ำดีไม่ทำงานหนัก อย่างไรก็ตาม แพทย์จะเจาะหลอดเลือดดำให้น้ำเกลือทีละหยดแก่ผู้ป่วย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ รวมทั้งให้ยาแก้ปวดผ่านทางหลอดเลือดดำ เพื่อบรรเทาอาการปวดจากการอักเสบให้ทุเลาลง ส่วนผู้ป่วยที่เกิดการติดเชื้อที่ถุงน้ำดี จะได้รับยาปฏิชีวนะรักษาร่วมด้วย ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเบื้องต้นติดต่อกันหลายสัปดาห์ ซึ่งระหว่างที่รับการรักษาอาจอยู่จะที่โรงพยาบาลหรือกลับไปพักรักษาต่อที่บ้าน เมื่ออาการดีขึ้น การรักษาถุงน้ำดีอักเสบในขั้นต้นนี้จะช่วยให้ก้อนนิ่วที่อุดตันหลุดออกมาได้ในบางครั้ง รวมทั้งไม่ทำให้อาการอักเสบแย่ลง
การผ่าตัด
ผู้ป่วยถุงน้ำดีอักเสบจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดทันทีในกรณีที่เกิดการอักเสบซ้ำ หรือประสบภาวะแทรกซ้อนอื่น ได้แก่ เนื้อเยื่อตาย (Gangrene) ถุงน้ำดีทะลุ ตับอ่อนอักเสบ เกิดการอุดตันที่ท่อน้ำดี หรือท่อน้ำดีอักเสบ หากเกิดอาการป่วยรุนแรง ผู้ป่วยจะได้รับการใส่ท่อผ่านหน้าท้องเข้าไปที่ถุงน้ำดี เพื่อระบายน้ำดีที่อุดตันออกมา ทั้งนี้ การผ่าตัดถุงน้ำดีใช้เวลาผ่าตัดแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของอาการป่วยและแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นระหว่างและหลังผ่าตัด ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ำจะได้เข้ารับการผ่าตัดภายใน 48 ชั่วโมง ระหว่างพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล หรือช่วงที่รอให้อาการอักเสบลดลงซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ การผ่าตัดถุงน้ำดีอักเสบมีเทคนิคในการผ่าตัดที่แตกต่างกัน ได้แก่ การผ่าตัดแบบส่องกล้อง และการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
การผ่าตัดแบบส่องกล้อง
การผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้มักนิยมใช้ผ่าตัดถุงน้ำดีอักเสบมากที่สุด โดยแพทย์จะผ่าท้องผู้ป่วยให้มีบาดแผลเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะผ่าหลายแห่ง และสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไปที่รอยผ่ารอยหนึ่ง เพื่อให้มองเห็นถุงน้ำดีและควบคุมการผ่าตัดได้ และสอดอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าไปยังรอยแผลอื่น ๆ เพื่อผ่าตัดผู้ป่วยการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
แพทย์จะผ่าเปิดหน้าท้องผู้ป่วยเป็นรอยผ่าขนาดใหญ่ เพื่อผ่าตัดนำถุงน้ำดีออกมา อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้มักไม่ค่อยใช้ผ่าตัดผู้ป่วยบ่อยนัก
ผู้ป่วยที่ผ่าตัดถุงน้ำดีออกไปสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยไม่ได้รับผลกระทบระยะยาวจากการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงขณะพักฟื้นตัว ซึ่งเป็นผลข้างเคียงชั่วคราวเท่านั้น ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดถุงน้ำดีอักเสบที่พบได้ทั่วไป มีดังนี้
- เกิดอาการบวม ฟกช้ำ และปวดแผลประมาณ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะได้รับยาแก้ปวด เพื่อช่วยบรรเทาอาการ
- รู้สึกไม่สบาย ซึ่งเป็นผลจากการได้รับยาสลบหรือยาแก้ปวด
- ปวดท้องและไหล่ เนื่องจากเกิดแก๊สในท้อง ผู้ป่วยควรรับประทานยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการไม่สบายท้อง
- ท้องอืด ท้องร่วง และมีลมในท้อง ซึ่งจะเกิดอาการดังกล่าวประมาณ 2-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงและรับประทานยาตามแพทย์สั่ง เพื่อลดอาการถ่ายเหลว
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรไปตัดไหมหลังผ่าตัดแล้วไม่เกิน 7-10 วัน ในกรณีที่แพทย์ใช้ไหมชนิดที่ไม่สลายเย็บแผลผ่าตัดให้ ระหว่างพักรักษาตัว ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้ ดังนี้
- รับประทานอาหารตามปกติ โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วนทุกมื้อ
- ออกกำลังกายเบา ๆ ตามเหมาะสม เช่น ออกกำลังกายด้วยการเดิน ไม่ควรหักโหมจนเกินไป รวมทั้งปรึกษาแพทย์เมื่อต้องการกลับไปออกกำลังกายที่ต้องออกแรงมาก
- ควรขับรถหลังผ่านไป 1 สัปดาห์ ลองดูว่าตนเองสามารถคาดเข็มขัดและขับรถได้อย่างปลอดภัยโดยไม่เกิดอาการกลัวเมื่อต้องขับจริง
ภาวะแทรกซ้อนของถุงน้ำดีอักเสบ
ผู้ป่วยถุงน้ำดีอักเสบที่เข้ารับการรักษาช้า หรือไม่ได้รับการรักษา อาจประสบภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยภาวะแทรกซ้อนของถุงน้ำดี มีดังนี้
ติดเชื้อที่ถุงน้ำดี
การอุดตันของน้ำดีภายในถุงน้ำดีส่งผลให้ถุงน้ำดีอักเสบ ทั้งนี้อาจทำให้ถุงน้ำดีเกิดการติดเชื้อ มีหนอง และอาจเกิดภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis)เนื้อเยื่อในถุงน้ำดีตาย (Gangrene)
ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาให้หาย อาจประสบภาวะเนื้อเยื่อในถุงน้ำดีตาย โดยภาวะดังกล่าวอาจทำให้ถุงน้ำดีทะลุ หรือเกิดภาวะถุงน้ำดีแตกได้ ทั้งนี้ ภาวะเนื้อเยื่อในถุงน้ำดีตายจะก่อให้เกิดการติดเชื้อร้ายแรง ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วร่างกายถุงน้ำดีทะลุ
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อตรงถุงน้ำดี หรือถุงน้ำดีบวมโตจนมีขนาดใหญ่มาก มีโอกาสเสี่ยงถุงน้ำดีทะลุได้ หากผู้ป่วยประสบภาวะถุงน้ำดีทะลุอาจเกิดการติดเชื้อภายในท้องหรือภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ รวมทั้งทำให้เกิดหนองและกลายเป็นฝีตับอ่อนอักเสบ
ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาถุงน้ำดี จะประสบภาวะแทรกซ้อนโดยป่วยเป็นตับอ่อนอักเสบได้มะเร็งถุงน้ำดี
โรคนี้ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ไม่บ่อยนัก ซึ่งคิดเป็น 1 ในหนึ่ง 10,000 คน ผู้ป่วยที่มีประวัติป่วยเป็นนิ่วในถุงน้ำดีเสี่ยงเกิดมะเร็งถุงน้ำดีได้สูง โดยผู้ป่วยจะเกิดอาการของโรคคล้ายปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดีอื่น ๆ ได้แก่ ปวดท้อง ไข้ขึ้นสูงประมาณ 38 องศาเซลเซียสหรือมากกว่านั้น รวมทั้งตัวเหลืองคล้ายเป็นดีซ่าน ผู้ป่วยมะเร็งถุงน้ำดีจะได้รับการรักษาด้วยการทำเคมีบำบัดและฉายรังสี
การป้องกันถุงน้ำดีอักเสบ
ถุงน้ำดีอักเสบไม่สามารถป้องกันได้อย่างเต็มที่ แต่ป้องกันนิ่วในถุงน้ำดีอันเป็นสาเหตุของโรค เพื่อลดโอกาสเสี่ยงป่วยเป็นถุงน้ำดีอักเสบได้ วิธีลดความเสี่ยงดังกล่าวทำได้ ดังนี้
ลดน้ำหนัก
ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปเสี่ยงเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้สูง เนื่องจากปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดีมีมากขึ้น ส่งผลให้เกิดก้อนนิ่ว จึงควรลดน้ำหนักตัวเพื่อลดโอกาสเกิดนิ่วในถุงน้ำดี โดยค่อย ๆ ลด ตั้งเป้าลดน้ำหนักสัปดาห์ละ 0.5-1 กิโลกรัม ไม่ควรหักโหมลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อสารเคมีในร่างกาย และกระตุ้นให้เกิดก้อนนิ่วได้เช่นกันรักษาน้ำหนักตัว
ควรรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป โดยเลือกรับประทานอาหารให้สมดุลและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ลดปริมาณพลังงานของอาหารที่รับประทานให้พอเหมาะ รวมทั้งทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอรับประทานอาหารที่ดี
ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชต่าง ๆ เนื่องจากอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันและมีกากใยต่ำจะทำให้เสี่ยงเกิดนิ่วในถุงน้ำดีหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
ดื่มให้น้อยลง อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้
ถุงน้ำดีอักเสบ: ห้ามกินอะไรบ้าง?
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ที่มีถุงน้ำดีอักเสบ
อาหารที่มีไขมันสูง
- ไขมันเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ถุงน้ำดีทำงานหนักขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ที่มีไขมันมาก อาหารทอด เนื้อสัตว์แปรรูป (ไส้กรอก เบคอน) อาหารขบเคี้ยวที่มีน้ำมัน
- ไขมันสูงอาจทำให้ถุงน้ำดีบีบตัวมากขึ้นและส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องได้
อาหารทอดและของมัน
- อาหารที่ทอดในน้ำมันปริมาณมาก เช่น เฟรนช์ฟรายส์ ไก่ทอด และขนมขบเคี้ยวทอดต่าง ๆ ล้วนเป็นอาหารที่ทำให้ถุงน้ำดีอักเสบกำเริบได้
- ควรเลือกการปรุงอาหารด้วยวิธีอบ นึ่ง หรือต้มแทนการทอดเพื่อลดปริมาณไขมัน
ผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันสูง
- นม เนย ชีส ครีม และโยเกิร์ตที่มีไขมันสูง ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีไขมันอิ่มตัวที่ย่อยยาก ทำให้ถุงน้ำดีทำงานหนักขึ้น
- หากจำเป็น ควรเลือกผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำหรือไม่มีไขมันแทน
อาหารหวานจัด
- ขนมหวาน น้ำตาล ไอศกรีม เค้ก และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากเป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะน้ำตาลสามารถกระตุ้นการสร้างไขมันและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี
เนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูป
- เนื้อวัว เนื้อหมู และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์แปรรูปมีไขมันอิ่มตัวสูงและอาจทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้ถุงน้ำดีอักเสบหรือปวดท้องได้ง่าย
อาหารที่มีโซเดียมสูง
- อาหารแปรรูปที่มีปริมาณเกลือสูง เช่น อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ไม่เพียงแต่เพิ่มความดันโลหิต แต่ยังส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนัก และทำให้ถุงน้ำดีอักเสบได้ง่ายขึ้น
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- แอลกอฮอล์ส่งผลเสียต่อระบบย่อยอาหารและสามารถทำให้การทำงานของถุงน้ำดีแย่ลง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้อาการถุงน้ำดีอักเสบแย่ลง
เครื่องดื่มคาเฟอีน
- กาแฟ ชา หรือเครื่องดื่มชูกำลังที่มีคาเฟอีน อาจกระตุ้นให้ถุงน้ำดีหดตัวและทำให้อาการปวดท้องเพิ่มมากขึ้น ควรจำกัดหรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มเหล่านี้
คำแนะนำเพิ่มเติม:
ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ผัก ผลไม้สด ธัญพืชไม่ขัดสี และโปรตีนไร้ไขมันจากปลาและไก่ โดยปรุงด้วยวิธีการอบหรือต้มเพื่อรักษาสุขภาพของถุงน้ำดี ควรแบ่งมื้ออาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อต่อวันแทนการรับประทานมื้อใหญ่ เพื่อให้ถุงน้ำดีไม่ต้องทำงานหนักเกินไปในการย่อยไขมัน