โรคไส้เลื่อน

โรคไส้เลื่อน คือ
ภาวะที่ลำไส้เลื่อนออกนอกช่องท้องผ่านผนังช่องท้องที่บอบบาง ตำแหน่งที่ลำไส้จะเลื่อนออกนอกช่องท้องมีหลายแห่ง เช่น บริเวณขาหนีบ (Groin Hernia) ผนังหน้าท้อง (Abdominal Hernia) สำหรับโรคนี้ถือเป็นอีกปัญหาสุขภาพที่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตที่ไม่ควรมองข้าม

อาการของโรคไส้เลื่อน
มีการดันของอวัยวะปรากฏเป็นก้อนตุงออกมา ซึ่งถ้าอาการเป็นไม่มาก คนไข้มักจะดันอวัยวะในถุงไส้เลื่อนกลับเข้าช่องท้องเองได้ อาจมีอาการปวดขณะมีก้อนยื่นออกมา สาเหตุการปวดนี้เกิดจากขอบถุงไส้เลื่อนบริเวณผนังหน้าท้องมีการรัดอวัยวะในช่องท้อง โดยเฉพาะลำไส้ และโอเมนตัม

อาการปวดดังกล่าวจะเริ่มจะทุเลาลงเมื่อมีการดันอวัยวะในถุงไส้เลื่อนกลับเข้าช่องท้อง กรณีที่เกิดการโป่งของผนังหน้าท้องและไม่สามารถดันอวัยวะในถุงไส้เลื่อนกลับเข้าช่องท้องได้ (incarcerated hernia) จะมีอาการปวดมากบริเวณไส้เลื่อนเนื่องจากอวัยวะถูกขอบถุงไส้เลื่อนรัด โดยเฉพาะลำไส้จะเกิดการบวมและขาดเลือด เมื่อเกิดภาวะดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเร่งด่วนเพื่อป้องกันภาวะลำไส้ตายจากการขาดเลือด (strangulated hernia)

ปัจจัยที่ทำให้เกิดไส้เลื่อนได้แก่

  1. อายุที่มากขึ้นทำให้เกิดความอ่อนแอของผนังหน้าท้อง โดยพบว่าผู้ชายอายุมากกว่า 75 ปี มีไส้เลื่อนขาหนีบ ประมาณ 50%
  2. ความผิดปกติของผนังหน้าท้องแต่เดิม ซึ่งมักจะมีอาการช่วงวัยรุ่น หรือวัยทำงาน
  3. เพศชายจะพบการเกิดไส้เลื่อน โดยเฉพาะไส้เลื่อนขาหนีบได้มากกว่าเพศหญิงประมาณ 7 เท่า
  4. เกิดการเพิ่มแรงดันช่องเรื้อรังจาก
    • เบ่งถ่ายท้องผูกเรื้อรัง (chronic constipation)
    • เบ่งปัสสาวะจากภาวะต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hypertrophy) เป็นเวลานาน
    • ไอเรื้อรัง เช่นจากโรคปอด เช่นถุงลมโป่งพอง (COPD) โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronic bronchitis)
โรคไส้เลื่อนผนังหน้าท้อง (Abdominal wall or Ventral hernia)
โรคที่อวัยวะภายในบางส่วน ที่พบได้บ่อยคือผนังลำไส้ โดยเฉพาะลำไส้เล็ก และโอเมนตัม (omentum) ซึ่งคือเนื้อเยื่อไขมันสองชั้น ที่ปกคลุมอวัยวะในช่องท้องเพื่อเป็นส่วนโครงสร้างยึดอวัยวะต่างๆ ในช่องท้องเข้าด้วยกัน เกิดการเคลื่อนตัวหรือดันออกจากตำแหน่งเดิม ผ่านรูหรือผนังหน้าท้องซึ่งประกอบไปด้วยชั้นกล้ามเนื้อ (muscle) และแผ่นเอ็นผังผืด (fascia) ที่บางลง ไปอยู่ยังอีกตำแหน่งนอกผนังหน้าท้อง ซึ่งจะมีถุงไส้เลื่อนชั้นกล้ามเนื้อที่บาง ชั้นไขมัน และผิวหนังคลุมอวัยวะภายในดังกล่าวอยู่

ไส้เลื่อนขาหนีบ (Inguinal hernia)
พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 75% ของไส้เลื่อนทั้งหมด ในผู้ชายมักคลำได้ก้อนบริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะ เกิดจากความอ่อนแอของผนังหน้าท้องบริเวณขาหนีบ การผ่าตัดผ่านกล้องนั้นมีแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว อีกทางเลือกของการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด การผ่าตัดไส้เลื่อนผ่านกล้อง (Laparoscopic Inguinal Herniorrhaphy) ถือเป็นหนึ่งกระบวนการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดอีกทางหนึ่งที่ได้ผลดี โดยใช้เทคนิคการผ่าตัดปูตาข่ายปิดรูไส้เลื่อนผนังหน้าท้องผ่านกล้อง ทำให้เกิดแผลผ่าตัดขนาดเล็กบริเวณใต้สะดือและสามารถใช้สอดอุปกรณ์เพื่อเข้าไปซ่อมไส้เลื่อนจากทางด้านในผนังหน้าท้อง และเสริมแผ่นตาข่ายสามมิติสังเคราะห์ เพื่อเสริมความแข็งแรง และปิดรูไส้เลื่อน


การผ่าตัดซ่อมไส้เลื่อนขาหนีบนอกช่องท้อง Totally extraperitoneal repair (TEP)
เป็นการผ่าตัดผ่านช่องว่างระหว่างหลังชั้นกล้ามเนื้อหน้าท้องกับเยื่อหุ้มช่องท้อง วิธีนี้เป็นที่นิยมมากที่สุดในการผ่าตัดผ่านกล้อง เพราะไม่เข้าช่องท้อง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า การผ่าตัดชนิดนี้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและมีภาวะแทรกซ้อนน้อย ลดการเป็นซ้ำ ทั้งนี้ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดผ่านกล้องต้องมี learning curve หรือมีประสบการณ์การผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวระหว่าง 50 - 100 ราย เป็นต้นไป ถึงจะมีผลลัพธ์การผ่าตัดที่ดี

การผ่าตัดซ่อมไส้เลื่อนขาหนีบในช่องท้อง Transabdominal preperitoneal repair (TAPP)
ใช้วิธีการดึงถุงไส้เลื่อนกับอวัยวะในถุงไส้เลื่อนกลับเข้ามาในช่องท้อง แล้วทำการปูตาข่ายนอกเยื่อหุ้มช่องท้องต่อไปโดย มีลักษณะแผลขนาดเล็ก 3 แผล บริวเวณใต้สะดือที่จะใส่กล้องเสน่ผ่านศูนย์กลาง 1 ซม. และแผลที่ใส่เครื่องมือยาว 0.5 ซม. ในกระบวนการผ่าตัดนั้น ศัลยแพทย์จะทำการขยายพื้นที่ระหว่างด้านหลังของผนังช่องท้องและเยื่อหุ้มช่องท้อง เพื่อมองเห็นรูไส้เลื่อนจากทางด้านหลังผนังช่องท้องได้อย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับการรักษาไส้เลื่อนโดยการผ่าตัดทั่วไปแบบเปิด จากนั้นใช้แผ่นตะแกรงสังเคราะห์ ที่ปัจจุบันพัฒนาให้เข้ากับสรีระด้านในผนังหน้าท้อง (anatomical 3D mesh) ปูคลุมกล้ามเนื้อและหนังหน้าท้องที่มีไส้เลื่อน จากนั้นจึงตรึงด้วยหมุดเพื่อยึดติดแผ่นตะแกรงให้แน่นแข็งแรง โดยหมุดที่ใช้ตรึงนั้นมีให้เลือกหลากหลาย เช่น วัสดุทำมาจากโลหะ วัสดุที่ละลายได้ และนวัตกรรมล่าสุดการนำกาว (fibrin glue) มาใช้ตรึงซึ่งได้ผลดีอีกทั้งยังลดอาการปวดได้มากที่สุดกว่าวัสดุชนิดอื่นๆ




การผ่าตัดผ่านกล้องดีอย่างไร
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการผ่าตัดผ่านกล้อง กับการผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบปกตินั้น พบว่าการผ่าตัดผ่านกล้องสำหรับการรักษาผู้ป่วยไส้เลื่อนชนิดต่างๆ อาทิ กลุ่มที่เป็นซ้ำไส้เลื่อนขาหนีบ (recurrence case) หรือในกลุ่มที่เป็นไส้เลื่อนขาหนีบทั้งสองข้าง (bilateral groin hernia) ส่งผลดีกว่าวิธีการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องคือ ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไว อาการเจ็บปวดแผล หรือการบอบช้ำหลังผ่าตัดมีเพียงเล็กน้อย

ระยะเวลานอนพักฟื้นอยู่โรงพยาบาลเพียง 2-3 วัน ระยะเวลาการพักฟื้นที่สั้นลงทำให้สามารถกลับไปทำงาน หรือใช้ชีวิตปกติได้เร็วกว่าเดิม



วิธีดูแลตัวเองก่อนการผ่าตัด
1. รักษาโรคประจำตัวเดิมที่มีอยู่ให้ดีก่อนผ่าตัด เช่นรักษาท้องผูก ไม่ควรเบ่งอุจจาระ, รักษาต่อมลูกหมากโต ไม่ควรเบ่งปัสสาวะ ไม่ควรไอรุนแรงเรื้อรังในกลุ่มโรคถุงลมโป่งพองหรือหลอดลมอกเสับ เพราะถ้ามีความดัน ในช่องท้องเพิ่ม ก็มีโอกาสที่จะทำให้รอยเย็บ หรือตาข่ายที่ใส่ไว้มีการเคลื่อน จะทำให้มีโอกาสเป็นซ้ำได้มากขึ้น
2. ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างรอรับนัดการผ่าตัดรักษา ควรระวังป้องกันไม่ให้ไส้เลื่อนเกิดภาวะติดดันกลับไม่ได้
(incarcerated hernia) เช่น การไม่ยกของหนัก การไม่เบ่งถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ การใส่อุปกรณ์ประเภท สายรัดหรือกางเกงที่ช่วยกระชับไม่ให้ไส้เลื่อนโป่งตุงออกมา

วิธีดูแลตัวเองหลังการผ่าตัด
1. งดยกของหนัก
2. งดการออกกำลังกายหนัก เช่น การกระโดด ยกน้ำหนัก หรือออกกำลังกล้ามเนื้อท้องในช่วง 1 เดือนแรก
3. การลดน้ำหนักในผู้ที่มีโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน การระวังไม่ให้มีน้ำหนักเกิน
4. การไม่เบ่งถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ หรือไอจามรุนแรงเป็นประจำ

การป้องกันการเป็นไส้เลื่อน
1. รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
2. เลือกรับประทานอาหารที่มีกากใย อย่างผัก ผลไม้ ธัญพืช
3. ระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
4. ไม่สูบบุหรี่